เป็นสรรพคุณแรก ๆ ของลูกใต้ใบที่คนรู้จักกันมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรแก้ไข้ได้แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไข้ทับระดู หรือแม้กระทั่งไข้จับสั่น อีกทั้งลูกใต้ใบยังมีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกาย ช่วยให้อาการไข้ดีขึ้นได้
Share
ที่มา https://health.kapook.com/view16177.html
ลูกใต้ใบ สรรพคุณดีงาม แก้ไข้ แก้ไอ รักษาได้หลายโรค
ลูกใต้ใบ สรรพคุณของสมุนไพรไทยที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่าลูกใต้ใบมีประโยชน์ทั้งต้น โดยเฉพาะสรรพคุณสมุนไพรแก้ไข้ แก้หวัด
ลูกใต้ใบ หลายคนอาจคุ้น ๆ ชื่อสมุนไพรชนิดนี้อยู่บ้าง เพราะมีการนำลูกใต้ใบมาสกัดเป็นสมุนไพรในรูปของแคปซูล สะดวกและง่ายต่อการรับสรรพคุณของลูกใต้ใบมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ลูกใต้ใบ สรรพคุณคงไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน งั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคอย่าง “ลูกใต้ใบ” กันค่ะว่า ลูกใต้ใบ สรรพคุณจะเด็ดดวงขนาดไหนนะ
ลูกใต้ใบ ในหลาย ๆ ชื่อเรียกขาน
ลูกใต้ใบมีอยู่หลายชื่อด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นมะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), หญ้าใต้ใบ (นครสวรรค์ อ่างทอง ชุมพร), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฎร์ธานี), ไฟเดือนห้า (ชลบุรี), หมากไข่หลัง (เลย), จูเกี๋ยเช่า (จีน) หรือลูกใต้ใบ ภาษาอังกฤษว่า Tamalaki, Hazardana หรือ Egg woman plant ซึ่งเป็นชื่อสามัญของลูกใต้ใบ
ทั้งนี้ ลูกใต้ใบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus niruri L. โดยอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ลูกใต้ใบเติบโตได้ดีในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย และยังกระจายอยู่ในหลาย ๆ ประเทศเขตร้อน ทั้งในบราซิล เปรู หมู่เกาะแคริบเบียน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา หรือแม้แต่ในทวีปแอฟริกา
ลูกใต้ใบ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไร
ลูกใต้ใบเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร ทุกส่วนมีรสขม โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อย 23-25 ใบ ปลายใบมนกว้างโคนแคบ ขนาดใบประมาณ 0.40 X 1.00 เซนติเมตร โคนก้านใบติดกับลำต้นที่มีสีม่วงแดง
ดอกของลูกใต้ใบมีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซนติเมตร ออกตามซอกก้านใบย่อยและห้อยลง เป็นดอกแยกเพศ คือ ดอกเพศเมียมักอยู่ส่วนโคน ส่วนดอกเพศผู้มักอยู่ส่วนปลายก้านใบ
ผลของลูกใต้ใบจะมีทรงกลมผิวเรียบสีเขียวอ่อน ขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร เกาะติดอยู่ที่ใต้โคนใบย่อย เมื่อแก่จะแตกเป็น 6 พู แต่ละพูจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลรูปเสี้ยว 1/6 ของทรงกลม ขนาดประมาณ 0.10 เซนติเมตร
ลูกใต้ใบ สรรพคุณมากมาย
สรรพคุณของลูกใต้ใบ หลายคนอาจคิดว่าเป็นสมุนไพรแก้หวัด ลดไข้ได้เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วลูกใต้ใบ สรรพคุณมากมายกว่าที่คิดเยอะเลยล่ะ โดยสรรพคุณของลูกใต้ใบ มีดังนี้
1. สมุนไพรแก้ไข้
เป็นสรรพคุณแรก ๆ ของลูกใต้ใบที่คนรู้จักกันมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรแก้ไข้ได้แทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไข้ทับระดู หรือแม้กระทั่งไข้จับสั่น อีกทั้งลูกใต้ใบยังมีสรรพคุณลดความร้อนในร่างกาย ช่วยให้อาการไข้ดีขึ้นได้
โดยวิธีการใช้ลูกใต้ใบแก้ไข้ ให้นำต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำปริมาณ 2 ถ้วยแก้ว จากนั้นเคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 ถ้วยแก้ว ทิ้งไว้จนอุ่นพอจิบได้ แล้วรับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
2. แก้ไอ
ใบอ่อนของต้นใต้ใบมีสรรพคุณแก้ไอในเด็ก โดยนำใบอ่อนของต้นใต้ใบ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 แก้ว เคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 แก้วแล้วจิบแก้ไอ อีกทั้งน้ำต้มใบอ่อนของลูกใต้ใบยังช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้อีกด้วย
3. ขับปัสสาวะ
ต้นของลูกใต้ใบมีสรรพคุณขับปัสสาวะ มีฤทธิ์แก้ขัดเบา ขับระดูขาว แก้น้ำดีพิการ แก้กามโรค และแก้ท้องเสียได้ โดยนำต้นสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเช่นเดิม นอกจากนี้หมอยาพื้นบ้านในแถบประเทศบราซิลและสเปน ยังนิยมนำรากของลูกใต้ใบมาใช้ขับนิ่ว รักษานิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในไตได้ อีกทั้งยังนำรากของลูกใต้ใบไปใช้รักษาอาการมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ลดอาการบวม รวมไปถึงช่วยคนที่เป็นโรคเกาต์ขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้อีกด้วย
4. ลูกใต้ใบ บำรุงตับ
หมอยาจีนเชื่อว่า การรับประทานลูกใต้ใบจะช่วยกำจัดพิษออกจากตับ รักษาอาการดีซ่าน และช่วยบำรุงตับให้ดีขึ้น โดยจะนำลูกใต้ใบไปต้มกินเป็นยารักษาอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และคณะแพทย์ศาสตร์อินเดียแห่งเมืองมีคราส ซึ่งพบว่า สารสกัดจากลูกใต้ใบมีฤทธิ์บำรุงตับสูงกว่าสมุนไพรชนิดอื่นที่นำมาทดลองพร้อมกัน โดยจากการทดลองพบว่า สารสกัดจากลูกใต้ใบช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสตับอักเสบได้ดี
นอกจากนี้ในตำราอายุรเวทอินเดียยังพบว่ามีการนำลูกใต้ใบมารักษาอาการดีซ่านมานานกว่า 2,000 ปี อีกทั้งยังพบว่าประเทศจีน ฟิลิปปินส์ คิวบา ไนจีเรีย แอฟริกาตะวันออกและตะวันตก อเมริกาใต้และอเมริกากลาง ก็มีตำรายาสมุนไพรลูกใต้ใบช่วยแก้อาการดีซ่านด้วยเช่นกัน
5. ขับประจำเดือน
สำหรับสาว ๆ ที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ ลูกใต้ใบช่วยแก้ปัญหาโลกแตกนี้ได้ค่ะ เพราะลูกใต้ใบมีสรรพคุณเป็นยาชั้นดีในการช่วยขับประจำเดือน โดยแค่นำต้นลูกใต้ใบมาต้มกิน ก็จะช่วยปรับสมดุลเลือดลมในร่างกายเราได้
ทว่าสาว ๆ ที่ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ให้นำรากสดของลูกใต้ใบมาตำผสมกับน้ำซาวข้าว แล้วคั้นเอาแตน้ำมาดื่ม ซึ่งจะช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ส่วนผู้ที่เป็นไข้ทับระดู ก็นำลูกใต้ใบทั้ง 5 มาล้างน้ำสะอาด นำมาตำผสมเหล้าขาว คั้นเฉพาะน้ำยามาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา
6. ควบคุมระดับน้ำตาล
มีการวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดของลูกใต้ใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่มีข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานว่า ต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันตามแพทย์สั่ง และหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอด้วย
7. รักษาแผลอักเสบ แก้ร้อนใน
นอกจากลูกใต้ใบจะสามารถแก้ไข้ได้แล้ว ยังมีงานวิจัยพบว่า ลูกใต้ใบสามารถแก้อาการปวดข้อ อาการอักเสบต่าง ๆ ได้ โดยทางภาคเหนือมักจะใช้ยอดอ่อนมาต้มกับน้ำแล้วดื่มรักษาอาการปวดกระดูก ปวดข้อ หรือใช้ใบอ่อนมาตำพอกรักษาแผลอักเสบ เพื่อให้แผลอักเสบแห้งเร็วขึ้น
8. แก้ปวด
ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยด้วยเช่นกัน โดยลูกใต้ใบมีสรรพคุณแก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อย ส่วนวิธีใช้ก็ไม่ยากค่ะ เพียงนำลูกใต้ใบมาล้างน้ำ และสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง ต้มใส่หม้อดิน นำมาดื่มแทนน้ำชาเท่านั้นเอง หรืออีกวิธีคือใช้ต้นสด ๆ ตำผสมกับเหล้า แล้วนำมาพอกแก้ฟกช้ำ ปวดบวมได้
9. แก้คัน
ตำใบของลูกใต้ใบผสมกับเกลือเพียงเล็กน้อย พอละเอียดแล้วนำน้ำที่คั้นได้จากการตำมาทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการคัน สารในใบของลูกใต้ใบจะช่วยแก้คันได้
10. รักษาโรคเริม
โดยใช้ลูกใต้ใบประมาณ 5 ใบ ตำผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาแต่นำมา จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็นเริม เพื่อให้รู้สึกเย็น แล้วอาการเริ่มจะทุเลา
ลูกใต้ใบ ผลข้างเคียงก็มีนะ
แม้ลูกใต้ใบจะมีสรรพคุณมากมาย และเพียงแค่นำต้นลูกใต้ใบหรือใบลูกใต้ใบมาต้มดื่มก็สามารถช่วยรักษาอาการต่าง ๆ ได้ แต่หนึ่งข้อที่ควรระวังก็คือ ห้ามใช้ลูกใต้ใบกับหญิงมีครรภ์ เพราะลูกใต้ใบมีสรรพคุณในการขับประจำเดือน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับหญิงมีครรภ์ได้
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า ลูกใต้ใบมีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด คล้ายกับฤทธิ์ของยาแอสไพรินแต่มีความเข้มข้นน้อยกว่า ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินลูกใต้ใบติดต่อกันนาน ๆ โดยในบางตำรามีการระบุให้กินลูกใต้ใบติดต่อกันนานสุดเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และควรเว้นระยะสักพัก จึงกลับมารับประทานต้นใต้ใบใหม่
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสมุนไพรก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี ทว่าถ้าใช้เกินขนาด หรือใช้สมุนไพรอย่างไม่เหมาะสมก็อาจเกิดอันตรายมากกว่าได้สุขภาพที่ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับ โรคไตก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาสมุนไพร เพราะอาจเกิดผลไม่ดีต่อสุขภาพได้นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กหมอชาวบ้าน
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ โดย มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง
แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร