ตำรายาแผนโบราณ: กล่าวว่า ผลแก้อัมพาต แก้เส้นปัตตะฆาต แก้เส้นอัมพฤกษ์ แก้คุดทะราดให้ปิดธาตุ แก้โรคหลอดลมอักเสบ เป็นยาขับระดู เป็นยาธาตุ ทาแก้ปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ ระงับอชิณโรค บำรุงธาตุ ขับลม ขับลมให้กระจาย ขับผายลม แก้ลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ปฐวีธาตุพิการ แก้วิสติปัฏฐี แก้ปัถวีธาตุ 20 ประการ บำรุงร่างกาย เจริญอาหาร แก้จุกเสียด เจริญไฟธาตุ แก้ปวดท้อง ขับเสมหะในโรคหืด แก้อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก) ปรุงเป็นยาประจำ ปัถวีธาตุ เป็นยาขับรกให้รกออกง่าย ภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก แก้เสมหะ แก้หืดไอ แก้ลมวิงเวียน แก้ริดสีดวงทวาร แก้คุดทะราด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการคลื่นไส้ (เกิดจากธาตุไม่ปกติ)
Share
ที่มา http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=58
ชื่อเครื่องยา
ดีปลี
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา
ได้จาก
ผลที่แก่จัดแต่ยังไม่สุก
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา
ดีปลี
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ดีปลีเชือก ประดงข้อ ปานนุ พิษพญาไฟ ปีกผัวะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Piper retrofractum Vahl
ชื่อพ้อง
Piper chaba Hunter., P. officinarum (Miq.) C. DC.
ชื่อวงศ์
Piperaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลแห้งสีน้ำตาลแดง ผลอัดกันแน่นเป็นช่อรูปทรงกระบอก โคนโต ปลายเล็กมน ขนาดยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5.0 – 8.0 มิลลิเมตร ผิวค่อนข้างหยาบ และมีเกสรตัวเมียติดอยู่ ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมล็ดมีขนาดเล็กมาก กลมและแข็ง ผงผลสีน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน ขม ปร่า ขับน้ำลาย ทำให้ลิ้นชา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 13% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7.5% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.4% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 10% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.0% v/w ปริมาณอัลคาลอยด์ โดยคำนวณเปรียบเทียบกับสาร piperine ไม่น้อยกว่า 2.5% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้ผล ขับลม ลดอาการไอ ระคายคอจากเสมหะ ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด บำรุงธาตุไฟ แก้ปวดท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ตับพิการ แก้ท้องร่วง แก้ไอ บีบมดลูก บำรุงธาตุ ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ขับเสมหะ แก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ แก้ลมวิงเวียน เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู เป็นยาขับน้ำดี เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี ยาขับระดูและทำให้แท้งลูก เป็นยาขับพยาธิในท้อง แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ปรุงเป็นยาทาภายนอกสำหรับบรรเทาอาการปวดที่กล้ามเนื้อ ทำให้ร้อนแดงและมีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณนั้นมากขึ้น แก้อักเสบ ฝนเอาน้ำทาแก้ฟก บวม ใส่ฟัน แก้ปวดฟัน
ตำรายาแผนโบราณ: กล่าวว่า ผลแก้อัมพาต แก้เส้นปัตตะฆาต แก้เส้นอัมพฤกษ์ แก้คุดทะราดให้ปิดธาตุ แก้โรคหลอดลมอักเสบ เป็นยาขับระดู เป็นยาธาตุ ทาแก้ปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ ระงับอชิณโรค บำรุงธาตุ ขับลม ขับลมให้กระจาย ขับผายลม แก้ลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ปฐวีธาตุพิการ แก้วิสติปัฏฐี แก้ปัถวีธาตุ 20 ประการ บำรุงร่างกาย เจริญอาหาร แก้จุกเสียด เจริญไฟธาตุ แก้ปวดท้อง ขับเสมหะในโรคหืด แก้อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก) ปรุงเป็นยาประจำ ปัถวีธาตุ เป็นยาขับรกให้รกออกง่าย ภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก แก้เสมหะ แก้หืดไอ แก้ลมวิงเวียน แก้ริดสีดวงทวาร แก้คุดทะราด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการคลื่นไส้ (เกิดจากธาตุไม่ปกติ)
พิกัดยาไทย: ดีปลีจัดอยู่ใน “พิกัดตรีกฎุก” แปลว่าของที่มีรสร้อน 3 อย่าง เป็นพิกัดยาที่ประกอบด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเสมอกันคือ พริกไทย ขิงแห้ง และดีปลี มีสรรพคุณแก้โรคที่เกิดจากวาตะ(ลม) เสมหะ และปิตตะ(ดี) ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน “พิกัดตรีสันนิบาตผล(ตรีสัพโลหิตผล)" คือการจำกัดตัวยาแก้ไข้สันนิบาต 3 อย่าง คือ ผลดีปลี รากพริกไทย และรากกระเพราแดง มีสรรพคุณแก้ไข้สันนิบาต แก้ในกองลม บำรุงธาตุ แก้ปถวีธาตุ 20 ประการ “พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด” คือการจำกัดจำนวนตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด คือ ดีปลี พริกไทย ผลผักชีลา ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา มีสรรพคุณแก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม ช่วยย่อยอาหาร “พิกัดเบญจกูล” คือการจำกัดจำนวนตระกูลยาที่มีรสร้อน 5 อย่าง มี เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง มีสรรพคุณกระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ บำรุงกองธาตุทั้ง 4 ให้บริบูรณ์
ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์:ปรากฏตำรับ “ยาอาภิสะ” มีดีปลีเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิด มีสรรพคุณแก้ริดสีดวง ไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและลำคอ
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้ดีปลี ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของดีปลี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของดีปลี ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิดในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ ตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของผลดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของดีปลี ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด ตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของดีปลี ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
1. อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ
โดยใช้ผลดีปลีแก่แห้ง 1 กำมือ (ประมาณ 10-12 ผล) เติมน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ต้ม 10-15 นาที ดื่มแต่น้ำวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
2. อาการไอ และขับเสมหะ
โดยใช้ผลแก่แห้ง ประมาณครึ่งผล ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือเล็กน้อย กวาดคอ หรือจิบบ่อยๆให้เติมน้ำพอควร
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่ม alkaloids ได้แก่ piperine 4-5% , piperanine , pipernonaline , dehydropipernonaline , piperlonguminine , piperrolein B สารกลุ่ม phenolic amides เช่น retrofractamide น้ำมันหอมระเหย 1% ประกอบด้วย terpinolene , caryophyllene , p-cymene , thujene , dihydrocarveol
มีรายงานพบสาร 33 ชนิด (สาร 1-30) จากผลดีปลี ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่ม amide ได้แก่ (2E,14Z)-N-isobutyleicosa-2,14-dienamide (1), dipiperamides F and G (2 และ 3), (E)-4-(isobutylamino)-4-oxo-2-butenoic acid (4), 3,4,15 3,4-methylenedioxycinnamaldehyde (5), 3,4,20 piperonyl anhydride (6) piperine (7), 3,4,19 isochavicine (8), 3,4,11 piperanine (9), 3,4,22 piperlonguminine(10), 3,4,19 scutifoliamide A (11), 3,4,23 dihydropiperlonguminine(12), 3,4 pellitorine (13), 3,4,24 pipericine (14), 3,4,25 (2E,4E)-N-isobutyleicosa-2,4-dienamide (15), 3,4,26 (2E,4E,12Z)-N-isobutyloctadec-2,4,12-trienamide (16), 3,4,16 (2E,4E,14Z)-N-isobutyleicosa-2,4,14-eicosatrienamide (17), 3,4,16 pipereicosalidine(18), 3,4,27 retrofractamide A (19), 3,4,18 retrofractamide C (20), 3,4,18 retrofractamide B (21), 3,4,8 guineensine (22), 3,4,19 brachystamideB (23), 3,4,11 dehydropipernonaline (24), 28 pipernonaline (25), 29 piperolein B (26), 3,4,11 piperundecaline (27), 3,4 piperchabamide C(28), 13 nigramide F (29), 3,4,17 chabamide (30), 4,5,30 nigramide R(31), 4,5,17 dipiperamide E (32), 4,5,14 และ piperchabamide H (33) โดยสรุปโครงสร้างของสารที่พบ เป็น long chain alkylamides (1, 4, 13–18), methylenedioxyphenylamides (7–12, 19–28), cyclobutanamides (2, 3, 21–33) และ cyclohexenamides (29, 30) (Muharini, et al., 2015)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ลดไขมัน
การทดสอบฤทธิ์ต้านการเพิ่มขึ้นของไขมันในหนูเมาส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้อ้วนด้วยอาหารไขมันสูง ทำการทดลองด้วยการให้สารสกัด piperidine alkaloids จากผลดีปลี (ประกอบด้วย piperine, pipernonaline และ dehydropipernonaline) ขนาด 50, 100 และ 300 mg/kg/day ป้อนให้แก่หนูทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่ามีการลดลงของน้ำหนักของหนูทดลอง, เซลล์ไขมัน, คอเลสเตอรอลรวม, low-density lipoprotein (LDL), total lipid, leptin และ lipase นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการลดไขมันสะสมที่ตับ จึงทำให้ร่างกายมีปริมาณไขมันลดลง สามารถทำให้น้ำหนักของหนูทดลองลดลงได้ในขณะที่มีการให้อาหารในปริมาณเท่ากันในทุกวัน (Kim, et al., 2011)
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเมทานอลของเปลือกต้นดีปลี ในหนูโดยใช้หนูแรทถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยการฉีด 0.1 มล. ของ 1% คาราจีแนน ทำการทดลองโดยการให้สารสกัดดีปลี ในขนาด 125 และ 250 mg/kg แก่หนูแรทก่อนการฉีดคาราจีแนน 1 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน 2 ชนิด ได้แก่ aspirin และ hydrocortisone ผลการทดสอบพบว่า aspirin, hydrocortisone ขนาด 125 mg/kg และสารสกัดดีปลีขนาด 125 และ 250 mg/kg สามารถยับยั้งการอักเสบได้ เท่ากับ 46%, 56%, 33% และ35% ตามลำดับ จึงสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดจากดีปลีมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบเฉียบพลันในระดับต่ำถึงปานกลางได้ (Begum, et al., 2012)
ศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยให้สารสกัดเอทานอลจากผลดีปลีทาที่หูหนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์ Sprague-Dawley ขนาด 1 mg(20 μL) ต่อหูหนู 1 ข้าง ก่อนที่จะกระตุ้นให้หูหนูเกิดการบวมด้วยการทา ethyl-Phenylpropiolate (EPP) ในขนาด 1 mg/20 μLต่อหูหนู 1 ข้าง จากการทดลองพบว่าสารสกัดจากผลดีปลี สามารถยับยั้งการบวมของใบหูหนูได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งได้แก่ phenylbutazone 1 mg พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของหูหนูได้ไม่แตกต่างกัน ฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูบวมด้วยการฉีดคาราจีแนน (carrageenan-induced paw edema assay) ผลการทดสอบพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 1,200 mg/kg เป็นเวลา1 ชั่วโมง ก่อนให้คาราจีแนน สามารถลดการบวมได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 3 และ 5 (Sireeratawong, et al., 2012)
ฤทธิ์ระงับปวด
ทดสอบฤทธิ์ระงับปวดในหนูถีบจักรเพศผู้สายพันธุ์ ICR โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัวหนูแต่ละกลุ่มจะได้รับสารสกัดเอทานอลจากผลดีปลี ในขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มควบคุมจะได้รับ 5% Tween80 และกลุ่มอ้างอิงจะได้รับ aspirin (300 mg/kg) และ morphine (10 mg/kg) วิธีทดสอบ Formalin Test แบ่งออกเป็น 2 phase คือ ระยะ early phase จะป้อนสารสกัดแก่หนูก่อน หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จึงฉีด 1% formalin, 20 μL เข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณด้านหลังเท้าซ้ายของหนู (หากเป็น morphine จะฉีดเข้าช่องท้องหนูเป็นเวลา 30 นาที ก่อนฉีด formalin) บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 5 นาที หลังฉีด formalin,ระยะ late phase จะฉีด formalin หลังป้อนสารสกัดแล้ว 40 นาที หรือหลังจากฉีด morphine แล้ว 10 นาที บันทึกระยะเวลาที่หนูยกเท้าขึ้นเลีย ภายในเวลา 20-30 นาที หลังฉีด formalin ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดีปลีทุกขนาด สามารถยับยั้งอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยออกฤทธิ์ต่อระยะ late phase ได้ดีกว่าระยะ early phase เช่นเดียวกับยามาตรฐาน aspirin และ morphine (Sireeratawong, et al., 2012)
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
สารสกัดจากผลดีปลีด้วย 80% อะซีโตน มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล และ indomethacin โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 14 และ 12 มก./กก. ตามลำดับ เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดผลดีปลี พบว่าประกอบด้วยสารในกลุ่ม amide ได้แก่ piperchabamides A, B, C และ D (1-4) นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญอื่นๆ ในดีปลี ได้แก่ piperine (5), piperanine (6), pipernonaline (7), dehydropipernonaline (8), piperlonguminine (9) retrofractamide B (10), guineensine (11), N-isobutyl-(2E,4E)-octadecadienamide (12) และ N-isobutyl-(2E,4E,14Z)-eicosatrienamide (13) และ methyl piperate (14) มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนู โดยที่สาร 5-10, 12-14 ในขนาด 25 mg/kg มีนัยสำคัญในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยเอทานอล สาร 5, 7, 8, 10, 12 และ 13 มีนัยสำคัญในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วย indomethacin เมื่อใช้ในขนาดเดียวกัน (Morikawa, et al., 2004)
ฤทธิ์ลดอาการวิตกกังวล
สกัดสารจากผลดีปลีแล้วนำมาป้อนให้แก่หนูเม้าส์ ในขนาด 300mg/kg ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน ประเมินผลการทำงานต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยการทดสอบด้วยวิธี cage crossing, head dips, swim test, light and dark test เพื่อให้หนูอยู่ในภาวะเครียดต่างๆ และดูพฤติกรรมของหนู ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากดีปลี ทำให้หนูทดลองลดอาการวิตกกังวลลง ในระดับอ่อนมีผลกดระบบประสาทส่วนกลาง และมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน (Sarfaraz, et al., 2014)
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
สกัดสารจากผลดีปลีแห้งเพื่อหาสารต้านเชื้อรา C. cladosporioides ใช้ไดคลอโรมีเทนเป็นตัวทำละลาย และทำการแยกสารสกัดหยาบ ด้วยโครมาโทกราฟีแผ่นบาง ทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดหยาบ โดยวิธี TLC-Bioassay พบว่าสารที่สามารถต้านเชื้อรา อยู่ในช่วง Rf∼0.00-0.33 จะประกอบด้วย piperine และ สารต้านเชื้อราจากช่วง Rf ∼0.40-0.47 จะประกอบด้วย methyl piperate (เนตรนภา, 1998)
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากผลดีปลี ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี growth inhibition method เชื้อจุลชีพที่ใช้ทดสอบ ได้แก่ เชื้อ Acinetobacter baumannii ATCC 19606 ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญของ nasocomial infection หรือการติดเชื้อในโรงพยาบาล ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กแรกเกิด หรือในผู้ที่ใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เชื้อสามารถเคลื่อนจากบริเวณผิวหนังเข้าสู่ชั้นเนื้อเยื่อที่ลึกขึ้น และเข้าสู่กระแสเลือด และยังเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาหลายชนิดอีกด้วย จึงได้ทดสอบการใช้สารสกัดจากพืชร่วมกับยา novobiocin (ยามีประสิทธิภาพดีในการต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก) ว่าจะสามารถเพิ่มผลการยับยั้งเชื้อให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผลดีปลี, ยา novobiocin และสารสกัดเอทานอล (250 µg/ml) ร่วมกับยา novobiocin (1/8xMIC) มีค่าการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้เท่ากับ 44.02±1.08, 6.67 และ 49.80±4.19% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้สารสกัดเอทานอลเพียงอย่างเดียว พบว่ายับยั้งเชื้อได้ดี แต่เมื่อให้สารสกัดเอทานอลร่วมกับยา novobiocin พบว่าไม่มีผลให้การออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Phatthalung, et al., 2012)
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
การทดสอบความสามารถในการยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง mouse lymphoma cell line L5178Y ในหนูถีบจักร ของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผลดีปลี 11 ชนิด ได้แก่ pellitorine, pipericine, dehydropipernonaline, pipernonaline, guineensine, brachystamide B, retrofractamide C, dipiperamides F, dipiperamides G, chabamide และ nigramide R พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยมีค่า IC50เท่ากับ 28.3, 24.2, 8.9, 17.0, 17.0, 16.4, 13.4, 10.0, 13.9, 11.6 และ 9.3 μM ตามลำดับ (สารมาตรฐาน kahalalide F ค่า IC50 เท่ากับ 4.3 μM) (Muharini, et al., 2015)
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloma) และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (WiDr) ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แยกได้จากหนู และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้จากคน โดยใช้สารสกัดเอทานอลที่ได้จากดีปลี, ขิง, และสารสกัดผสมระหว่างสารสกัดเอทานอลที่ได้จากขิงกับสารสกัดเอทานอลที่ได้จากดีปลีในอัตราส่วน 1:1 ตรวจสอบโดยวิธี MTT cytotoxic assay ใช้ยา doxorubicin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าดีปลี, ขิง, สารสกัดผสม และยา doxorubicin มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 36, 28, 55, และ 2µg/ml ตามลำดับ และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 158, 74, 64 และ 1µg/ml ตามลำดับ (ค่า IC50 < 1,000 µg/ml ภายหลังสัมผัสสารทดสอบแล้ว 24 ชม.จึงแปลผลว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง) แสดงว่าสารทดสอบทั้งหมดมีฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้งสองชนิด การศึกษาความสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย พบว่าทั้งสารสกัดเอทานอลที่ได้ดีจากดีปลี, ขิง และสารสกัดผสม สามารถเหนี่ยวนำขบวนการ apoptosis โดยการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่าทำให้เซลล์มะเร็งทั้งสองชนิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ได้แก่ มีขนาดหดเล็กลง เยื่อหุ้มเซลล์ปูดพอง DNA และเซลล์มะเร็งแตกออกเป็นชิ้น (Ekowati, et al., 2012)
ฤทธิ์ต้านเชื้อเดงกีไวรัส
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อเดงกีไวรัส (Dengue Virus) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ของสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากผลดีปลี ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี MTT method ทำการทดสอบกับเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด African green monkey kidney epithelial cells (vero cell) เชื้อไวรัสที่ทดสอบเป็นเชื้อเดงกีไวรัส Dengue virus type 2 strain 16681 การทดสอบโดยบ่มเพาะเซลล์กับเชื้อไวรัสก่อน หลังจากนั้นจึงใส่สารสกัด (Post treatment) เพื่อดูผลการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสภายในเซลล์ ใช้สารสกัดทั้งสองชนิด ความเข้มข้น 12.5 µg/ml ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่เกิดพิษต่อเซลล์ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอทานอล มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อเดงกีไวรัสภายในเซลล์ โดยมีร้อยละของการยับยั้งเท่ากับ 32.06 และ 53.53% ตามลำดับ การทดสอบฤทธิ์ฆ่าเชื้อเดงกีไวรัส ของสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอทานอลที่ได้จากผลดีปลี ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ทดสอบโดยการผสมสารสกัดบ่มกับเชื้อไวรัสโดยตรง จากนั้นจึงตรวจสอบดูการติดเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งแสดงถึงผลการฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง (Inactivation assay) บันทึกผลจากการลดจำนวนกลุ่มเซลล์ที่ติดเชื้อ (Plaque reduction assay) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอล (100 µg/ml) มีร้อยละของการฆ่าเชื้อไวรัสได้เท่ากับ 84.93% ทำให้ไวรัสถูก inactive และเสียความสามารถในการทำให้เซลล์ติดเชื้อ (Klawikkan, et al., 2011) การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอทานอลที่ได้จากผลดีปลี ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี MTT method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่ง (CC50) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดเอทานอล มีค่า CC50 เท่ากับ 156.25 และ 625 µg/ml ตามลำดับ โดยสรุปสารสกัดเอทานอลในขนาดที่ไม่เกิดพิษต่อเซลล์ สามารถยับยั้งไวรัสเดงกีที่ติดเชื้อแล้วภายในเซลล์ได้ และยังยับยั้งเชื้อก่อนเข้าสู่เซลล์ได้อีกด้วย (Klawikkan, et al., 2011)
การศึกษาทางคลินิก:
ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, 2546)
การศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดผลดีปลีด้วยน้ำ ในหนูแรทเพศผู้และเพศเมีย การศึกษาพิษเฉียบพลัน ป้อนสารสกัดดีปลีขนาด 5,000 mg/kg แก่หนูทดลอง (หนูเพศผู้ 5 ตัว,หนูเพศเมีย 5 ตัว) ผลการศึกษาไม่พบการเกิดพิษทั้งในพฤติกรรมทั่วไปของหนู,อัตราการตาย หรืออวัยวะภายใน ไม่พบการเปลี่ยนแปลง การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง ป้อนสารสกัดดีปลีทุกวัน ขนาด 300, 600 และ 1,200 mg/kg แก่หนูทดลอง (หนูเพศผู้ 10 ตัว,หนูเพศเมีย 10 ตัว) เป็นระยะเวลา 90 วัน และกลุ่ม satellite group เป็นกลุ่มศึกษาผลย้อนกลับหลังหยุดให้สารสกัดดีปลีในน้ำ โดยให้สารสกัดดีปลีขนาด 1,200 mg/kg/day เป็นระยะเวลา 90 วัน แล้วหยุดให้ แล้วสังเกตอาการต่ออีก 28 วัน ผลการศึกษาพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดดีปลีไม่มีความผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทั้งกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากดีปลีไม่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังในหนูเพศผู้ และหนูเพศเมีย (Jaijoy, et al., 2011)
ข้อควรระวัง:
ไม่ควรบริโภคปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ แสบทวารเวลาถ่าย คนมีไข้ไม่ควรกินจะทำให้ร้อนใน หญิงมีครรภ์ห้ามกินเพราะอาจทำให้แท้งได้
เอกสารอ้างอิง:
1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
2. เนตรนภา พรหมสวรรค์.การศึกษาสารต้านเชื้อจากผลดีปลี.โครงการพิเศษสาขาวิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,1998.
3. Begum F, Begum ZA, Uddin MR, Haider A, Barman RC. Effects of Methanol Extract of Piper chaba Stem Bark on Acute Inflammation in Rats. Faridpur Med Coll J. 2012;7(1): 26-28.
4. Ekowati H, Achmad A, Prasasti E, Wasito H,Sri K, Hidayati Z, et al. Zingiber officinale, Piper retrofractum and combination inducedapoptosis and p53 expression in myeloma and WiDr cell lines. HAYATI J Biosci. 2012;19(3):137-140.
5. Jaijoy K, Vannasiri S, Piyabhan P, Lerdvuthisopon N, Boonraeng S, Khonsung P, Lertprasertsuke N, et al. Acute and subchronic toxicity study of the water extract from the fruits of Piper chabaHunter in rats. IJARNP. 2011;3(4):29-35.
6. Kim KJ, Lee M-S, Jo K, Hwang J-K. Piperidine alkaloids from Piper retrofractum Vahl. protect against high fat diet induced obesity by regulating lipid metabolism and activating AMP-activated protein kinase. Biochemical and Biophysical Research Communications.2011;411:219–225.
7. Klawikkan N, Nukoolkarn V, Jirakanjanakit N, Yoksan S, Wiwat C, Thirapanmethee K. Effect of Thai medicinal plant extracts against Dengue virus in vitro. Mahidol University Journal of Pharmaceutical Science. 2011;38(1-2):13-18.
8. Morikawa T, Matsuda H, Yamaguchi I, Pongpiriyadacha Y, Yoshikawa M. New amides and gastroprotective constituents from the fruit of Piper chaba. Planta Med. 2004; 70(2): 152-159.
9. Muharini, R, Liu Z, Lin W, Proksch P. New amides from the fruits of Piper retrofractum. Tetrahedron Letters. 2015;56: 2521-2525.
10. Phatthalung PN, Chusri S, Voravuthikunchai SP. Thai ethnomedicinal plants as resistant modifying agents for combating Acinetobacter baumannii infections. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2012;12:1-8.
11. Sarfaraz S, Najam R, Sarfaraz A.CNS depressant, sedative and anxiolytic activity of ethanolic extract of fruit of Piper chaba revealed after neuropharmacological screening. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences.2014;6(11):186-189.
12. Sireeratawong S, Itharat A, Lerdvuthisopon N, Piyabhan P, Khonsung P, Boonraeng S, et al. Anti-Inflammatory, analgesic and antipyretic activities of the ethanol extract of Piper interruptumOpiz. and Piper chaba L. ISRN pharmacology. 2012;2012:1-6.