ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เปลือกมังคุดจัดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยในการใช้ มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้เปลือกมังคุดในการรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยใช้เปลือกผลแห้งซึ่งมีสารแทนนินเป็นยาฝาดสมาน แก้โรคท้องร่วง ท้องเสียเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับลำไส้
Share
ที่มา https://mgronline.com/goodhealth/detail/9580000075787
(เปลือก)มังคุด สุดยอดสรรพคุณ และเรื่องที่ต้องระวัง!
เผยแพร่: 6 ก.ค. 2558 10:41 ปรับปรุง: 6 ก.ค. 2558 12:53 โดย: MGR Online
บทความโดย : ผศ.ศิรินทร พิศุทธานันท์
ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แพทย์โบราณเราเลือกที่จะใช้เปลือกมังคุดเป็นสมุนไพรไทยในการรักษาโรคผิวหนัง โดยนำเอาเปลือกมังคุดมาฝนกับน้ำปูนใสแล้วนำมารักษาแผลที่เป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน จึงมีการบรรจุยาเปลือกมังคุดในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2556 ในรูปแบบยาน้ำใส โดยมีสรรพคุณสำหรับรักษาแผลสดและแผลเรื้อรัง ซึ่งมีสารสำคัญจากเปลือกมังคุดแห้งที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 95 เปอร์เซนต์ สารสกัดสำคัญหรือตัวยาสำคัญที่ได้ จะมีความเข้มข้นของสารสกัดอยู่ที่ร้อยละ 10 คิดเป็นน้ำหนักต่อปริมาตร อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือ ยาน้ำใสเปลือกมังคุดจำนวน 100 มิลลิลิตร จะมีสารสกัดจากเปลือกมังคุดอยู่ 10 มิลลิกรัม ยาน้ำใสเปลือกมังคุดมีข้อห้ามใช้คือ ห้ามทาบริเวณขอบตาและเนื้อเยื่ออ่อนๆ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ทั้งนี้ การที่เราเลือกใช้เปลือกแห้งมาทำเป็นยาน้ำใสเปลือกมังคุด โดยไม่ใช้เปลือกสดๆ คาดว่า เนื่องจากไม่ต้องการให้มีน้ำยางในปริมาณมากจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจเกิดการระคายเคืองจากน้ำยาง และที่สำคัญคือ มังคุดเป็นผลไม้ตามฤดูกาลจึงจำเป็นต้องมีกลวิธีถนอมเพื่อเก็บรักษาเปลือกมังคุดไว้ใช้ในยามที่หาเปลือกมังคุดสดไม่ได้ วิธีการถนอมก็คือทำการตากเปลือกผลให้แห้งสนิท ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดปี นอกจากนี้ ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เปลือกมังคุดจัดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยในการใช้ มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้เปลือกมังคุดในการรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยใช้เปลือกผลแห้งซึ่งมีสารแทนนินเป็นยาฝาดสมาน แก้โรคท้องร่วง ท้องเสียเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับลำไส้
ในขณะที่ต่างถิ่นจากบ้านเรา เช่น สหรัฐอเมริกา มีการนำเอาสารสกัดจากเปลือกมังคุดมาทำเป็นเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากพืช (Botanical dietary supplement) เนื่องจากสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณสตรีทั้งหลาย (อาจรวมถึงคุณผู้ชายทั้งหลายเช่นกัน) ต้องการจะหลีกหนีไปให้ไกลที่สุด นั่นก็คือมันมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีผลทำให้คนเราแก่
ทีนี้ เรามาดูกันว่ามีอะไรบรรจุอยู่ในเปลือกมังคุดบ้าง ถึงทำให้ตัวมันได้รับเกียรติให้บรรจุอยู่ในตำนานสมุนไพร และยังนำมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย เราพบว่าเปลือกมังคุดมีสารสำคัญตัวหลักๆ อยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ สารกลุ่มพรีนิลเลท แซนโธน (prenylate xanthones) สารกลุ่มแอนโธไซยานิน (anthocyanins) และสารประกอบกลุ่มฟีนอลิค (phenolic compounds)
สารกลุ่มพรีนิลเลท แซนโธน พบในส่วนที่เป็นน้ำยางสีเหลืองเขียวซึ่งอยู่ภายในท่อน้ำยางในเปลือกมังคุด สารหลักของกลุ่มนี้ คือ แอลฟ่า-แมงโกสติน (alpha-Mangostin) สารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสามารถต่อกรกับเชื้อจุลชีพได้ ส่วนเปลือกมังคุดด้านนอกที่เป็นเนื้อแข็งสีม่วง มีสารแอนโธไซยานิน สารหลักในกลุ่มนี้คือ ไซยานิดินไกลโคไซด์ (cyanidin glycosides) ซึ่งเป็นสารรงควัตถุสีแดง (รงควัตถุหรือสารสี) ส่วนเปลือกด้านในที่มีลักษณะนุ่มกว่า มีสีชมพูอมม่วง ส่วนนี้มีสารประกอบกลุ่มฟีนอลิค หรือสารกลุ่มแทนนิน (tannins) เช่น โปรไซยานิดิน (procyanidins) อยู่มาก ทั้งสารกลุ่มแอนโธไซยานินและสารประกอบกลุ่มฟีนอลิค มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
วิชาเคมีในสมัยที่เราได้ร่ำเรียนกันมาสอนให้เรารู้ว่า อนุมูลอิสระเกิดจากกระบวนการออกซิเดชั่น กล่าวคือมีความเสียหายเกิดขึ้นในโมเลกุลหรืออะตอมของสาร ความเสียหายที่ว่าก็คือ อยู่ๆ อิเล็กตรอนในโมเลกุลหรืออะตอมดังกล่าวเกิดการตีตัวออกห่างจากเจ้าของ แปรพรรคไปอยู่กับโมเลกุลหรืออะตอมอื่นที่ขันอาสารับอิเล็กตรอนตัวนั้นไปอยู่ด้วย (โมเลกุลที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับอิเล็กตรอน) เมื่อเผลอใจให้อิเล็กตรอนไปยังสารอื่นแล้ว ตัวมันเองจึงเสมือนไม่สมประกอบดี มันจึงแปลงกายกลายเป็นสารที่เราขนานนามให้มันว่า “อนุมูลอิสระ” ทีนี้ เมื่ออนุมูลอิสระมีอิเล็กตรอนไม่ครบ มันก็จะพยายามไปตามจีบและดึงเอาอิเล็กตรอนจากสารอื่นที่อยู่ข้างเคียงมาเป็นของตนเอง เพื่อเติมเต็มตัวมันให้มีอิเลคตรอนในวงโคจรครบกระบวนความ ส่งผลให้สารที่สูญเสียอิเลคตรอนแก่อนุมูลอิสระดังกล่าวกลายเป็นสารที่ขาดอิเลคตรอนไปเสียเอง
เหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดเป็นทอดๆ ต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เรียกง่ายๆ ว่าเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ตัวอย่างของกระบวนออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกายของเรา เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป เราใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปเผาผลาญอาหารที่ร่างกายได้รับ ให้เกิดเป็นพลังงานสำหรับการทำงานของเซลล์ และผลพลอยได้ (แบบจำใจยอม) ก็คือการเกิดอนุมูลอิสระ เมื่ออนุมูลอิสระไปร่วมมือทำงานกับไขมันเลวในร่างกายที่ชื่อว่า “แอลดีแอล (Low-density lipoprotein)” เกิดเป็นลูกผสมที่มีนามกรว่า “ออกซิไดซ์แอลดีแอล (oxidized LDL)” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เกิดการอุดตันของหลอดเลือด เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายของเราได้ทั้งสิ้น
โชคยังดีที่เรามีสารที่ทำหน้าที่เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระเหล่านั้น สารพระเอกที่ว่านั้น จะต่อสู้กับอนุมูลอิสระโดยการจับอนุมูลอิสระเอาไว้ เพื่อป้องกันหรือหยุดการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ดังกล่าว พูดง่ายๆ คือ สารเหล่านี้จะมีคุณลักษณะที่เมื่อยอมสละอิเล็กตรอนให้แก่อนุมูลอิสระไปแล้ว ตัวของมันเองก็ยังคงเสถียรอยู่ ไม่เกิดเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ต่อไป จึงสามารถหยุดการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ดังกล่าวได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ร่างกายของคนเราถูกสร้างขึ้นมาให้มีกลไกที่จะสามารถผลิตสารต้านอนุมูลอิสระก่อนที่อนุมูลอิสระจะก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายเรา แต่พระเจ้าไม่ได้สร้างให้เราเพอร์เฟคต์ไปหมดเสียทุกอย่าง ทุกอย่างจึงมีข้อจำกัดของมัน นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่อนุมูลอิสระมีมากเกินกว่าที่สารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจะกำจัดได้หมด เราก็จำต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากการรับประทานเข้าไป
สารต้านอนุมูลอิสระที่เราพบจากอาหารได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน แร่ธาตุ สารพฤกษเคมี (คือสารเคมีที่พืชเป็นผู้สร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ) เช่น สารประกอบฟีนอลิค สารกลุ่มแอนโธไซยานิน สารกลุ่มแซนโธน เป็นต้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ต้องเข้าใจว่าการป้องกันกระบวนการปฏิกิริยาออกซิเดชั่นนั้น มันมีด้วยกันหลายกลไก ซึ่งไม่มีสารประกอบสารใดสารหนึ่งที่จะสามารถป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้ทั้งหมด ทั้งนี้สารต้านอนุมูลอิสระแม้ตัวมันเองไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่มันก็สามารถชะลอหรือประวิงเวลาที่ความเสียหายนั้นๆ จะเกิดขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคไม่ติดต่อที่เป็นกันเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการสะสมเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายที่ค่อยๆ เสื่อมและทำให้เกิดความเสียหายซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสั่งสมความเสียหายมาเป็นเวลาหลายสิบปี เราจึงพบว่าโรคเหล่านี้ในช่วงวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ
เกริ่นมานาน ขอย้อนกลับเข้าไปสู่ประเด็นยอดฮิตที่มีการแนะนำให้รับประทานมังคุดนึ่ง เพื่อปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ ถ้าตีความคำว่าระบบภูมิคุ้มกันในทางการแพทย์ เราจะหมายถึง กลไกของร่างกายมนุษย์ที่ใช้ฆ่าฟันทำร้ายเหล่าศัตรูที่รุกรานเข้ามาในร่างกายเรา เช่น เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ จากภายนอกร่างกาย (เช่น สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ การได้รับเลือดผิดหมู่ หรืออวัยวะของผู้อื่นที่นำมาปลูกถ่ายเข้าในร่างกายของเรา) เพื่อไม่ให้ก่อโรคหรือความผิดปกติให้กับร่างกายเราได้ แถมยังรวมไปถึงการต่อสู้กับเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด หรือแม้กระทั่งวันเลวคืนร้าย กลไกนี้ที่เป็นเพื่อนสนิทกับเราเกิดทรยศขึ้นมาซะงั้น กลับกลายร่างมาเป็นภูมิคุ้มกันที่สังหารตนเอง
เรายังไม่พบรายงานความเกี่ยวเนื่องของสารสกัดจากเปลือกมังคุดกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่อย่างใด แต่ถ้าในแง่ที่ผู้เขียนขอตีความว่า การปรับสมดุลย์ที่ว่านี้ คงจะเกี่ยวข้องกับการได้รับประทานสารที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (ที่พบในเปลือกมังคุดนี้) เข้าไปช่วยทำลายอนุมูลอิสระ (ดังกลไกที่กล่าวไว้ข้างต้น) จึงส่งผลให้อนุมูลอิสระไม่สามารถจะสำแดงฤทธิ์เดชได้ จึงช่วยชะลอให้เกิดความเสื่อมและความเสียหายภายในร่างกายของเราช้าลงไปอีกหน่อย ที่นี้ในส่วนที่แนะนำให้รับประทานมังคุดนึ่งนั้น เราคาดว่าการใช้ความร้อนด้วยการนึ่งมังคุดทั้งผลนั้น น่าจะเพื่อให้ความร้อนมีส่วนช่วยให้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่พบในเปลือกมังคุด อันได้แก่ สารจำพวกแซนโธน สารประกอบฟีนอลิค และสารแอนโธไซยานินสามารถละลายแทรกซึมเข้าไปในส่วนเนื้อผลมังคุดได้มากขึ้น สังเกตได้ว่า เนื้อมังคุดนึ่งจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีม่วงๆ แดงๆ เพราะสารรงควัตถุแอนโธไซยานินที่มีสีม่วงแดงนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้กินเนื้อมังคุดนึ่งเป็นยา แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นยา แม้จะจะเป็นยาที่ได้ชื่อว่าเป็น “สมุนไพร” ก็ตาม มันก็จะมีข้อจำกัดด้วยตัวของมันเช่นกัน กล่าวคือก็มีข้อห้ามไว้ว่า ห้ามรับประทานเกินวันละ 1 ผล เพราะใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์เพียงด้านเดียว มังคุดนึ่งยังมีสารที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะในร่างกายแฝงอยู่ด้วย
การปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน ก็คือการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กลับมาแข็งแรงที่จะต่อสู้กับเหล่าบรรดาเชื้อโรคและสารแปลกปลอมต่างๆ คำถามก็คือ แล้วมังคุดนึ่งละ มีผลอย่างไรกับปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์เรา
ถ้ามองกันตามหลักวิชาการและความเป็นไปได้ เราคาดว่า การใช้ความร้อนซึ่งในที่นี้คือนำมังคุดไปนึ่ง น่าจะเพื่อให้ความร้อนมีส่วนช่วยให้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่พบในเปลือกมังคุด อันได้แก่ สารจำพวกแซนโทน ฟีนอลิคและแอนโธไซยานินสามารถละลายแทรกซึมเข้าไปในส่วนเนื้อผลมังคุดได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้กินเนื้อผลมังคุดนึ่งเพื่อเป็นยา
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นมีรายงานการศึกษาของสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับพิษเรื้อรังของสารสกัดเปลือกมังคุดที่ระบุไว้ว่า ถ้าได้รับสารสกัดเปลือกมังคุดในขนาดสูง จะมีกระทบต่อการทำงานของตับและไต จากผลการศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดเปลือกมังคุดในหนูทดลอง โดยป้อนสารสกัดเปลือกมังคุดในขนาดสูงแก่หนูทุกวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วทำการตรวจผลเลือด พบว่า ค่าเอนไซม์ ALT และ AST (ซึ่งทั้งสองตัวจะเป็นตัวคัดกรองดูความผิดปกติของตับ ด้วยว่าทั้งสองตัวนี้จะไวต่อการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ เมื่อเซลล์ตับบาดเจ็บหรือมีการฉีกขาดของผนังเซลล์ เอนไซม์ทั้งสองตัวนี้จะรั่วออกมาในกระแสเลือด เราจึงเจาะเลือดเพื่อวัดระดับเอนไซม์ทั้งสอง) มีค่าสูงกว่าในหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเซลล์ตับในหนูที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีเซลล์ตับที่ถูกทำลาย
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าค่า BUN ซึ่งเป็นค่าที่ดูการทำงานของไต โดยพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีค่าที่สูงกว่าในหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตนั่นเอง ดังนั้น แม้ว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดจะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ แต่การใช้ระยะยาวติดต่อกันในมนุษย์อย่างพวกเรายังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด ในแง่ของการนำมาใช้เพื่อเสริมสุขภาพ ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ เราแนะนำว่าควรมีการศึกษาด้านความปลอดภัยขององค์ประกอบทางเคมีต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงกันให้แน่ชัด และจักเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เพื่อนำไปใช้ต่อไป
ดังนั้น เพื่อตัวผู้บริโภคเอง หากท่านจะกินติดต่อกันเพื่อเสริมสุขภาพเป็นระยะเวลานาน และเพื่อความสบายใจของตัวท่านเองแล้วล่ะก็ ลองตรวจร่างกายทุก 6 เดือน หรือลองปรึกษาคุณหมอเพื่อเช็คการทำงานของตับและไตดู ก็ไม่เสียหาย
เอกสารอ้างอิง
1.คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ. ผลไม้ไทยๆ. กรุงเทพฯ : สหมิตรพริ้นติ้ง, 2545.
2.Chaovanalikit, A., et al. Anthocyanin and total phenolics content of mangosteen and effect of processing on the quality of mangosteen products. International Food Research Journal. 19, 3(2012): 1047-1053.
3.Songpol Chivapat, et al. Chronic Toxicity Study of Garcinia mangostana Linn. Pericarp Extract. The Thai Journal of Veterinary Medicine. 41, 1(2011): 45-53.
4.Dmitriy Obolskiy, et al. Garcinia mangostana L.: A Phytochemical and Pharmacological Review. Phytotherapy Research. 23(2009): 1047-1065.
5.Hyun-Ah Jung, et al. Antioxidant Xanthones from the Pericarp of Garcinia mangostana (Mangosteen). Journal of Agricultural and Food Chemistry. 54(2006): 2077-2082.