“อบเชยคือเครื่องเทศของคนรุ่นใหม่ ใช้ต้านภัยเบาหวาน” คือการค้นพบสรรพคุณของอบเชยโดยบังเอิญว่าช่วยการลดน้ำตาลในเลือดได้ รายงานการศึกษาชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ ในวาสาร New Scientist ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2543 หลังจากนั้นก็มีรายงานการศึกษาประโยชน์ของอบเชยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า ในอบเชยมีสาร methylhydroxy chalcone polymer (MHCP) ที่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้มากขึ้น จึงช่วยทำให้อินซูลินทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งตัวมันเองนั้นยังมีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นเบาหวานให้รับประทานผงอบเชยจีนประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน แบ่งเป็นเช้าครึ่งช้อนชา เย็นครึ่งช้อนชา โดยผสมกับเครื่องดื่มประเภทไหนตามใจชอบ เช่น นม ช็อกโกแลต ชา กาแฟ โยเกิร์ต หรือบรรจุลงในแคปซูลรับประทานก็ได้ แต่ควรรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน
Share
ที่มา https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_19616
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับโรคเบาหวาน วงการแพทย์และโภชนาการทั้งหลายต่างหันมาให้ความสนใจในการบำบัดและป้องกันเบาหวานกันมากขึ้น สำหรับวงการสมุนไพรซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่รวมอาหารและยาอยู่ในองค์ประกอบเดียวกันนั้น ก็มีต้นยาสมุนไพรเพื่อใช้ในการดูแลและแบ่งเบาปัญหาเบาหวานกันอยู่หลายชนิด แต่มิตรรักแฟนสมุนไพรรู้หรือไม่ว่า ในวงการศึกษาพืชสมุนไพรยุคใหม่ๆ กำลังให้ความสนใจสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อบเชย
เมื่อพูดถึงอบเชย ถ้าใครไม่รู้จักให้ลองไปสั่งข้าวราดพะโล้มารับประทาน แล้วคุณจะซาบซึ้งถึงรสชาติและกลิ่นหอมของอบเชยเป็นอย่างดี อบเชยเป็นเครื่องเทศสมุนไพรชนิดหนึ่งจากเครื่องเทศอีกหลายชนิดที่ปรุงผสมในพะโล้ เช่น โป๊ยกั๊ก ลูกผักชี แต่อบเชยจะเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอมโดดเด่นที่สุด กลิ่นหอมพิเศษนี้ยังใช้ดับกลิ่นคาวในอาหารพวกเนื้อ เช่น ผสมลงไปในเครื่องแกงเนื้อ หรือการตุ๋นยาจีนด้วย
ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่นิยมขนมปังขนมเค้ก และกาแฟสด ก็สามารถรู้จักอบเชยผ่านของกินเล่นและเครื่องดื่มอินเทรนด์เหล่านี้ได้ เช่น ขนมปังขาไก่ โดนัทไทย ขนมญี่ปุ่นหลายชนิดก็นิยมใส่อบเชยเช่นกัน
อบเชยที่นำมาใช้ประโยชน์ คือส่วนของเปลือกไม้ ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cinnamomum พืชชนิดนี้คนไทยเราภูมิใจได้เพราะเป็นพืชประจำถิ่นแถวๆ เอเชียตอนใต้ แต่พืชตระกูลอบเชยมีอยู่หลายชนิดเราจึงเคยเห็นหรือได้ยินทั้ง อบเชยไทย อบเชยลังกา อบเชยญวน อบเชยชวา อบเชยจีน อบเชยเนปาล ซึ่งตระกูลอบเชยมักจะมีสรรพคุณทางยาคล้ายๆ กัน ความต่างที่เห็นได้ชัดของอบเชยแต่ละชนิด คือส่วนของเปลือกไม้ เช่น
อบเชยจีนจะมีเปลือกหนาหยาบ คล้ายกับอบเชยญวน อบเชยเนปาลและอบเชยไทย แต่อบเชยจีนจะมีกลิ่นหอมกว่า เนื้อหนากว่าและสีเข้มกว่า ส่วนอบเชยลังกากับอบเชยชวาจะเป็นเปลือกด้านในเนื้อไม้บางไม่มีเปลือกด้านนอกให้เห็น
สำหรับการศึกษาในปัจจุบันที่เกี่ยวกับสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด เพื่อนำมาใช้กับผู้เป็นเบาหวานนั้น นักวิจัยเขาหยิบเอา “อบเชยจีน” เข้าห้องทดลองจนได้ผลการศึกษาออกมาอย่างดี กล่าวแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอบเชยชาติอื่นๆ ไม่มีสรรพคุณดังว่า เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ถูกนำมาศึกษาอย่างจริงจังเท่านั้น
ขอให้ย้อนดูสรรพคุณในภูมิปัญญาดั้งเดิมเสียก่อน การใช้ประโยชน์จากอบเชยมีบันทึกในตำราการแพทย์จีนมาตั้งแต่ 2700 ปีก่อนคริสตกาล โดยการนำมาใช้เป็นพืชหอมแก้ไข้ แก้ท้องเสีย และปัญหาของประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งก็มีการนำมาใช้เช่นเดียวกันในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย
ในทวีปยุโรปแม้ว่าจะนำอบเชยจากเอเชียไปใช้ในลักษณะเครื่องเทศตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน แต่มาภายหลังก็ได้ประยุกต์อบเชยมาใช้ทางยาสำหรับรักษาโรคไซนัส หวัด หวัดใหญ่ และมะเร็ง ในอเมริกามีการใช้อบเชยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยนักธรรมชาติบำบัดจะจ่ายสมุนไพรอบเชย เพื่อรักษาอาการปวดเกร็งในท้อง อาการท้องอืด อาการท้องเสีย และอาการปวดเกร็งในท้องของเด็ก
ส่วนไทยแลนด์ดินแดนสยามแต่ก่อนนั้น ทั้งหมอยาไทยและที่กล่าวถึงสรรพคุณตำรายาโบราณระบุไว้ตรงกันว่า อบเชยมีกลิ่นหอม รสสุขุม บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์ แก้ปวดหัว
มาถึงการศึกษาในปัจจุบันพบว่า อบเชยมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมายที่สนับสนุนการใช้แต่โบราณยกตัวอย่าง เช่น อบเชยมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้ง แบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกรนดิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ
ยังมีฤทธิ์แก้ปวด แก้แพ้ มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการลดลงของเม็ดเลือดขาว ยับยั้งการอ่อนเปลี้ย กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต เป็นต้น
และฤทธิ์ที่โดดเด่นจนกล่าวได้ว่า “อบเชยคือเครื่องเทศของคนรุ่นใหม่ ใช้ต้านภัยเบาหวาน” คือการค้นพบสรรพคุณของอบเชยโดยบังเอิญว่าช่วยการลดน้ำตาลในเลือดได้ รายงานการศึกษาชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ ในวาสาร New Scientist ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2543 หลังจากนั้นก็มีรายงานการศึกษาประโยชน์ของอบเชยต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า
ในอบเชยมีสาร methylhydroxy chalcone polymer (MHCP) ที่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้มากขึ้น จึงช่วยทำให้อินซูลินทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งตัวมันเองนั้นยังมีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน
ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นเบาหวานให้รับประทานผงอบเชยจีนประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน แบ่งเป็นเช้าครึ่งช้อนชา เย็นครึ่งช้อนชา โดยผสมกับเครื่องดื่มประเภทไหนตามใจชอบ เช่น นม ช็อกโกแลต ชา กาแฟ โยเกิร์ต หรือบรรจุลงในแคปซูลรับประทานก็ได้ แต่ควรรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน
ในการศึกษายังบอกว่า อบเชยออกฤทธิ์ได้แม้เพียงเอาชิ้นเปลือกอบเชยแช่ในถ้วยชาร้อนๆ เนื่องจากสารออกฤทธิ์ของอบเชยละลายน้ำได้ และการรับประทานอบเชยในปริมาณที่สูงกับน้อยความสามารถในการลดน้ำตาลในเลือดไม่แตกต่างกัน
พูดกันตามภาษาวิชาการ คือรับประทาน 1 กรัมต่อวัน ผลไม่ต่างกับ 6 กรัมต่อวัน (ยังไม่มีการศึกษาว่าต่ำกว่า 1 กรัมต่อวันมีฤทธิ์หรือไม่)
นอกจากนี้ อบเชยจีนยังช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ ลด LDL lipoprotein, ลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้ด้วย และยังมีฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น ปัจจุบันแพทย์แนวธรรมชาติมักแนะนำให้รับประทานอบเชย เพื่อป้องกันโรคเบาหวานและลดระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับคนปกติก็สามารถใช้อบเชยเป็นอาหารสุขภาพได้ เนื่องจากอบเชยช่วยให้ร่างกายมีพลัง เพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา จึงมีชาวตะวันตกเรียกอบเชยว่า “energizing spice” ซึ่งคนตะวันออกอย่างเรารู้จักกันมานานแล้ว
เพราะคนไทยนำอบเชยมาผสมในอาหารเพื่อเพิ่มพลัง หรือผสมในยาหอมสุดยอดยาไทยเช่นกัน
“อบเชย” ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cinnamomum cassia (L) Presl, Cinnamomum aromaticum Nees
วงศ์ Lauraceae ชื่อสามัญ Chinese Cinnamon